Lumpini Tips

สมการชีวิตวิถีใหม่ ความพอดี = ความสมดุล + ความสุข

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีแนวโน้มจะถดถอยทั่วโลกดังนั้นหากจะซื้อของหรือคิดจะลงทุนอะไรต้องมีการวางแผนที่ดีมีการคิดอย่างรอบครอบ  หนึ่งในการใช้ชีวิตที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขใจนั่นคือการใช้ชีวิตให้อยู่ในความพอดี พอประมาณ ไม่มากไปในกำลังของตัวเองที่ทำได้ไม่เบียดเบียนใคร และเมื่อทำไปแล้วมีความสุข

การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นเดียวกันกับธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องรีบและรับกับการปรับตัวของสังคมและการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยมองไปยังอนาคตข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้ง 3 เมกาเทรนด์ คือ

1) Well-Being

2) Smart-Living และ

3) Virtual Connecting ช่วยตอบสนองการดำรงชีวิตบนออนไลน์ได้

“ความพอดี” มีองค์ประกอบที่สำคัญๆ อยู่ 5 ประการคือ ความพอดีด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านจิตใจ

🔸 ความพอดีด้านเศรษฐกิจ

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ นับเป็นใจความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพราะหากแค่การกินอยู่ยังฝืดเคือง ถึงแม้บ้านที่เป็นปัจจัย 4 อันดับแรก ก็ไม่ควรรีบร้อน จำเป็นต้องมองหาสิ่งที่พอดีกับเงินในกระเป๋า ไม่สร้างภาระในระยะยาว ทั้งการผ่อนชำระ หรือแม้แต่การเช่า หากผันเงินส่วนนั้นมาเป็นค่าผ่อนซื้อจะดีกว่าหรือไม่ เพราะช่วงนี้ ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องระบายสินค้าที่พร้อมเข้าอยู่อาศัย ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและมีสินค้าที่จับต้องได้จริง สามารถเข้าไปเลือกดูและวางแผนการอยู่อาศัย การเดินทางได้เลย หรือหากจำเป็นต้องใช้ที่อยู่อาศัยเป็นที่ทำงานเพื่อ Work from Home ก็จะวางแผนให้เห็นภาพได้ชัดมากที่สุด

นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยก็ย่อมมีวันชำรุด เสื่อมสภาพตามกาลเวลา หากผู้ประกอบการได้วางแผนและมีบริการรองรับไว้ล่วงหน้า ก็จะช่วยทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย ด้วยบริการรับซ่อมแซมที่มารับช่วงต่ออย่างเบ็ดเสร็จและสมราคา ผู้อยู่อาศัยก็จะมีเวลาไปวางแผนเรื่องที่สำคัญ รวมถึงการทำงานเพื่อสร้างรายได้ของตนเองได้มากขึ้น

🔸 ความพอดีด้านเทคโนโลยี

เพราะไลฟ์สไตล์ในอนาคต คือ การใช้ชีวิตบนออนไลน์เกือบ 80% (Virtual-Connecting) เทคโนโลยีที่รองรับได้ จึงเป็นปัจจัยแรกๆ ที่ผู้ซื้อจะคำนึงถึง ดังนั้น การนำเทคโนโลยีที่เสถียรแล้วมาใช้จึงไม่ก่อให้เกิดภาระ คำว่า “เสถียร” ในที่นี้ หมายถึงนำมาใช้งานได้ทันที ทั้งยัง สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ไม่ต้องรื้อทิ้งและซื้อใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นภาระแก่ผู้อยู่อาศัยในระยะยาว ที่สำคัญคือ สามารถรองรับความต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรง สะอาด ถูกสุขลักษณะ (Well-Being) การออกแบบ วางโครงสร้างทั้งภายในห้องชุดและส่วนกลางทั้งหมดให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ สามารถปรับเปลี่ยนได้ในทุกสถานการณ์ จึงนำมาซึ่งการอยู่อาศัยที่มีคุณภาพ (Smart-Living)

🔸 ความพอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่พอเพียง ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน นำองค์ความรู้แบบ Eco System มาใช้วางแผนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งระบบ เช่น การออกแบบโดยการใช้ประโยชน์จากพลังงานที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติให้มากที่สุด การออกแบบพื้นที่กึ่งเปิดและตามทิศทางของลมเพื่อเพิ่มการระบายอากาศและความร้อนจากห้องชุดและบ้าน การออกแบบห้องชุดให้มีช่องเปิดตามแนวกว้างของห้องเพื่อรับแสง ช่วยลดการเปิดดวงโคมไฟ และการเลือกใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เพราะมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในการอยู่อาศัยภายในบ้านสูงกว่าเดิม การใช้น้ำ ไฟ ย่อมผันแปรตาม นอกจากนี้ ควรต้องรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างถูกต้อง ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ซึ่งผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นในทุกช่วงวัย

🔸 ความพอดีด้านสังคม

เพราะเราไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง ต้องมีสังคม มีเพื่อนบ้าน ที่จะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตครั้งใด การบริหารจัดการชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงให้เกิดสังคมที่เข้มแข็ง อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

🔸 ความพอดีด้านจิตใจ

คือปลายทางของทุกความพอดีที่กล่าวมา เพราะจะนำทั้งความสุข ความอุ่นใจ ความรู้สึกปลอดภัย จากทุกระบบโครงสร้างที่วางแผน พัฒนา และปูพื้นฐานไว้แล้ว รวมถึงการมีสังคมที่แข็งแรง พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ อันจะนำมาซึ่ง “ความภาคภูมิใจ” ในการเป็นเจ้าของที่ไม่ได้เน้นเรื่องราคาหรือรูปลักษณ์ ความสวยงามภายนอกเท่านั้น แต่เป็น ความสุข ความภูมิใจภายใน ที่ได้เป็นเจ้าของในสิ่งที่ “พอดี” กับเราอย่างแท้จริง

ในสถานการณ์ปัจจุบัน “ความพอดี”  จึงเป็นคำสั้นๆ ที่ต้องนำไปตีความให้เหมาะกับงานและธุรกิจที่ทำ รวมถึงการดำเนินชีวิต จึงจะมีชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการ แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคด้วยนะครับ

“สิ่งที่ดีที่สุดในการเดินทางตามหาความสมบูรณ์แบบในชีวิต คือ การรู้จัก ‘พอดี’ และ ‘พอเพียง’ ในสิ่งที่มีอยู่ เราอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงเส้นชัยเลยก็ได้ หากเราเหนื่อยเกินไป ก็ควรหยุดพักระหว่างทาง และใช้สติทบทวนดูว่า เราได้อะไรมาแล้วบ้าง และนั่นก็อาจเพียงพอที่ทำให้เราค้นพบ ‘ความพอดี’ ของชีวิตแล้ว”

Facebook Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *