Lumpini Trendy

ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ในแบบ KonMari

เพื่อนๆสมาชิกลุมพินี อาจจะเคยได้ยินวิธีจัดเก็บบ้านแบบ KonMari กันมาบ้าง ซึ่งเนื้อหาอยู่ในหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up เขียนโดย Kondo Marie (คนโด มาริเอะ) ชาวญี่ปุ่น จากเนื้อหาอันยืดยาวในหนังสือ เราจะมาย่อให้อ่านกันแบบสั้นๆ กันค่ะ

วิธีจัดเก็บบ้านแบบ KonMari ไม่ได้สอนเราให้เอาของเข้าบ้านแต่กลับกลายเป็นว่า “ให้โยนทุกสิ่งออกจากบ้านไปซะ” เมื่อทำแบบนั้นแล้วชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ซึ่งเราสามารถนำหลักการนี้ มาปรับใช้กับที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดที่มีพื้นที่จำกัดได้ดีมากๆ ด้วยค่ะ

1.) เก็บทุกอย่างในครั้งเดียว

ว่ากันว่าถ้าหากเราค่อยๆ เก็บของจัดของในบ้านไปทีละนิด เราจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเก็บของไปเรื่อยๆ ส่วนวิธีของ Konmari เราไม่ต้องมาเสียเวลาทยอยเก็บอีกต่อไป ถ้าเราจะต้องเสียเวลาในการเก็บของในบ้านแล้วก็ควรจะเก็บทีเดียวให้หมดไปเลย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเก็บให้เสร็จภายในวันเดียว เพียงแต่ต้องเก็บของอย่างต่อเนื่องจนกว่าของจะหมด (อาจจะใช้เวลา 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านที่ต้องการจะเก็บด้วย)

2.) จัดบ้านตามหมวดหมู่ไม่ใช่ตามห้อง

คนที่ยังไม่ได้รู้จักวิธีการจัดบ้านตามหมวดหมู่มาก่อน อาจจะเลือกเก็บของกระจัดกระจายกันไปตามพื้นที่ว่างๆเหลืออยู่ในบ้าน เช่น เก็บเสื้อผ้าจำนวนมากกระจายไว้ในห้องต่างๆ  ซึ่งเปลืองพื้นที่มากๆ แต่การใช้วิธีแบบ Konmari มีเทคนิคคือ ให้เรานำเอาของสิ่งเดียวกัน (เช่น หนังสือ กระดาษทิชชู่ เสื้อผ้า) มาเก็บเอาไว้ในที่ๆ เดียวกันซะ เช่น เสื้อผ้าที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายในหลายๆ ห้อง ก็ให้นำเอามารวมไว้ในที่เดียวกัน เท่านี้เราก็จะมีพื้นที่ใช้สอยในบ้านเพิ่มขึ้นแล้ว

3.) คิดซะว่าการจัดบ้านเป็นวาระพิเศษ

เมื่อเริ่มเก็บของและจัดบ้านไปสักพัก หลายๆ คนมักจะรู้สึกว่าการจัดบ้านเป็นอะไรที่ชวนให้รู้สึกขี้เกียจและเหนื่อยไม่ใช่น้อย จนกลายเป็นความเบื่อที่จะต้องมานั่งเก็บของทุกๆอย่าง ซึ่งขอให้คิดเสียว่าการจัดบ้านคือวาระพิเศษไม่ต่างอะไรจากงานวันเกิด เพราะมันคือช่วงเวลาพิเศษ ที่จะได้เห็นบ้านของเราดูเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และมันจะเปลี่ยนชีวิตเราไปด้วย

 

4.) คัดของออก และโยนมันออกไปจากชีวิตซะ!

หัวใจสำคัญสุดๆของการจัดบ้านแบบ Konmari คือขั้นตอนนี้นี่แหล่ะ!

4.1) เรียงลำดับข้าวของต่างๆ และค่อยปิดท้ายด้วยสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจ

วิธีการคัดเลือกของ คือ เรียงจากเสื้อผ้า หนังสือ ของจิปาถะ ต่างๆ และค่อยปิดท้ายด้วยสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจ เพราะถ้าเราคัดของโดยไม่เลือกประเภทเสียก่อน สิ่งที่เราจะเจอคือรูปเก่าๆ หรือจดหมายเก่าๆ แล้วเราก็จะใช้เวลาไปกับการละเลียดความหลัง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้ว ทำให้การเก็บของล่าช้า ถ้าเราเจอสมบัติอะไรที่มีคุณค่าทางจิตใจ ให้เราเอาไปกองรวมกันเอาไว้ แล้วค่อยมาจัดการทีหลังสุด

4.2) จัดการคัดสิ่งของทีละประเภท

สมมติว่าเราเริ่มต้นจากการคัดเสื้อผ้า เราต้องเอาเสื้อผ้าที่มีอยู่ทั้งหมดมากองไว้ และต้องให้แน่ใจว่านี่คือเสื้อผ้าทั้งหมดที่เรามีแล้วจริงๆ (อาจต้องไปรื้อดูว่ามีเสื้อผ้าของเราตกหล่นอยู่ที่ห้องอื่น หรืออยู่ในกล่องอื่นๆ อีกรึเปล่า) วิธีการนี้จะช่วยให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วเรามีเสื้อผ้าอยู่เยอะแค่ไหน ซึ่งคำตอบทีเราจะเจอก็คือ “เยอะกว่าที่คิด”

4.3) “เก็บ” หรือ “ทิ้ง” โดยยึดหลักการว่า “มันจุดประกายความสุขให้เรารึเปล่า?”

การทิ้งของแต่ละชิ้น จะยึดหลักการว่า “มันจุดประกายความสุขหรือสร้างความชื่นใจให้เรารึเปล่า?” (Does it spark joy?) โดยให้นำของสิ่งนั้นมาพิจารณาดูว่าสิ่งที่เรากำลังถืออยู่ ถ้าใช่ก็เก็บเอาไว้ ถ้าไม่ใช่ก็จัดการทิ้งใส่ถุงขยะได้เลย ในการพิจารณาของแต่ชิ้นว่ามีคุณค่ากับเรารึไม่ เราจำเป็นจะต้องนำของเหล่านั้นมาถือไว้ในมือ เพราะร่างกายและอารมณ์ของเราสามารถบอกความจริงได้ดีกว่าความคิด และสิ่งที่เราทิ้งทุกชิ้น อย่าลืมกล่าวขอบคุณมันด้วย “ขอบคุณที่ดูแลกันมานะ” ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เราสามารถ “สะสาง” ความรู้สึกภายในใจของเราได้เวลาเราต้องอำลาจากของชิ้นนั้น

หนังสือของ Kondo Marie ได้สร้างปรากฎการณ์ทั้งในญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป จนนิตยสารไทม์ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2015 (100 Most Influential people) ซึ่งสำหรับฉบับลิขสิทธิ์ภาษาไทยใช้ชื่อหนังสือว่า “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว”

นี่คือวิธีการจัดบ้านแบบ Konmari ฉบับย่อ ที่สอนให้โยนสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุขออกไปจากชีวิตและบ้านของเรา นอกจากบ้านที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าอยู่ขึ้น ยังช่วยเพื่อนๆ ลดโลกร้อนได้จากสิ่งที่ไม่จำเป็นที่อยู่ในบ้านได้ด้วยค่ะ

ส่วนถ้าใครที่อ่านจบแล้ว คิดอยากคัดของที่เหลือใช้ออกจากบ้านหรือคอนโด ก็ลองนำมาบริจาคในช่วงที่โครงการมีกิจกรรรมต่างๆ ก็ได้นะคะ เช่น นำของเหลือใช้แต่สภาพดีมาหย่อนใน “กล่องปันกัน” ที่ลุมพินีร่วมกับร้านปันกัน ในมูลนิธิยุวพัฒน์ จัดกิจกรรมนี้เป็นประจำทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวิธีส่งต่อประโยชน์จากของเกินความจำเป็นในห้องของเราให้กับผู้ด้อยโอกาส นอกจากห้องเราดูเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นแล้ว เรายังสุขใจอีกด้วยค่ะ

Facebook Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *