เตรียมกู้ซื้อบ้านอย่างไร ให้ได้ไปต่อ
การขอกู้เงิน เป็นอะไรที่หนักหนาสาหัสสำหรับคนซื้อบ้าน หลายคนถึงขั้นจิตตก เพราะไม่รู้ว่า แบงก์จะอนุมัติเงินกู้ให้หรือไม่ หรือถ้าอนุมัติแล้วจะได้วงเงินตามที่ขอไปหรือไม่เปล่า จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องลุ้นกันจนกว่าแบงก์จะ Say Yes! คุณไปต่อได้ ถึงจะโล่งใจกินได้นอนหลับ
เราจะเป็น 1 คนที่แบงก์เลือกได้อย่างไรเมื่อไปยื่นกู้ คงต้องปรับเปลี่ยนวิธี และเตรียมตัวกันให้พร้อม เพื่อให้ได้ไปต่อลองมาดูกันว่า …
3 สิ่งนี้ถ้าผ่านไปได้ รับรองว่าการกู้เงินซื้อบ้านของคุณมีโอกาสได้ไปต่ออย่างแน่นอน
เมื่อคุณคิดว่าควรจะต้องมีบ้านสักหลังหรือคอนโดสักห้อง สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ การเลือกบ้านหรือคอนโดที่ถูกใจในราคาที่คิดว่าพอจะซื้อได้แล้ว
-
เดินไปหาแบงก์ เพื่อตรวจสุขภาพการเงิน และวางแผนทางการเงินก่อนการเลือกซื้อ
เป็นสิ่งที่ควรทำก่อนสิ่งอื่นใด ลองให้แบงก์วิเคราะห์รายได้ต่างๆ แล้วประเมินดูก่อนว่า คุณน่าจะกู้เงินได้เท่าไหร่ แล้วบวกไปอีก 10-20% ซึ่งเป็นเงินที่คุณควรจะเก็บออมก่อนการซื้อบ้าน หรือคุณจะใช้วิธีการผ่อนดาวน์กับโครงการก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด วิธีการนี้จะทำให้คุณสามารถกำหนดงบประมาณในการซื้อบ้านหรือคอนโดในราคาที่เหมาะสมกับกำลังเงินของคุณได้
2. การเช็คภาระหนี้ทั้งหมดที่คุณมี
สามารถไปเช็คได้ที่ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโร คุณจะได้รู้ว่า มีหนี้ค้างชำระที่ขึ้นบัญชีดำเอาไว้หรือเปล่า หากมีให้ทำใจไว้ได้เลยว่า โอกาสที่จะกู้เงินได้เท่ากับ 0 ต่อให้เอาเงินมาเคลียร์หนี้จนหมดจนสิ้นแล้วก็ตาม แต่เครดิตบูโรจะยังต้องขึ้นบัญชีคุณไว้อีก 3 ปี
กรณีที่คุณไม่ได้มีหนี้ค้าง แต่ยังมีหนี้ที่ชำระอยู่ ก็ขอดูได้จากเครดิตบูโรว่ามีกี่บัญชี ไม่ว่าจะ ผ่อนรถ ผ่อนโทรศัพท์ จ่ายบัตรเครดิต คุณควรจะเคลียร์หนี้ที่มีอยู่ไปให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าคุณยังมีหนี้ที่ต้องจ่ายรายเดือนอยู่ แล้วมาขอกู้บ้าน ก็อาจจะได้วงเงินที่น้อยลง หรือไม่ได้เลย เพราะแบงก์เห็นว่าคุณมีหนี้ที่ต้องจ่ายรายเดือนมากแล้ว
ซึ่งหลายแบงก์จะมีเครื่องคำนวณสินเชื่อในเว็บไซต์ ลองไปดูเบื้องต้น ก็จะรู้ว่าภาระหนี้ที่มีจะเป็นตัวถ่วงต่อการขอกู้บ้านมากน้อยแค่ไหน ยิ่งตอนนี้ แบงก์ค่อนข้างระวัง เรื่องของภาระหนี้ของผู้กู้ เพราะเป็นเรื่องที่ลูกพี่ใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทยเน้นย้ำ เกรงว่าภาระหนี้ครัวเรือนจะพุ่งสูง ก็ยิ่งต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ
3. ผู้กู้ร่วม
อีกเรื่องที่เป็นผลพวงจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากมาตรการที่ออกมาใช้กำหนดให้ผู้กู้ร่วม แม้ว่าจะอาศัยชื่อเฉยๆ ไม่ได้ไปผ่อนอะไรกับผู้กู้หลักก็ตาม แต่ก็ถือว่า เป็นผู้ที่กู้เงินไปแล้ว
สมมุติว่า ผู้กู้ร่วมยังไม่เคยกู้ซื้อบ้านของตัวเองเลย พอถึงเวลาที่จะซื้อและกู้เงินซื้อบ้านของตัวเองจริงๆ บ้านที่จะซื้ออยู่เองเป็นหลังแรกจะกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 เพราะเคยกู้ในฐานะผู้กู้ร่วมมาก่อนแล้ว ซึ่งวงเงินกู้บ้านหลังที่ 2 ก็จะได้น้อยลง จึงเป็นที่มาว่า ต่อไปคงไม่มีใครอยากเป็นผู้กู้ร่วม เพราะจะเสียสิทธิ์ของตัวเอง
เมื่อผู้กู้ร่วมหายากขึ้น เราก็อย่าไปหวังว่าจะซื้อบ้านที่ราคาสูงขึ้นมาหน่อย โดยอาศัยผู้กู้ร่วมเป็นตัวช่วย นอกจากจะหาผู้กู้ร่วมที่ยอมกับเงื่อนไขนั้นได้จริงๆ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น สามี ภรรยา หรือพี่น้องที่ต้องอยู่บ้านหลังนั้นด้วยกัน ดังนั้น ตนจึงต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน ซื้อบ้านหรือคอนโด ก็ประเมินจากความสามารถในการซื้อจากรายได้ของตัวเองเป็นหลัก อย่าหวังซื้อบ้านใหญ่แล้วไปหาใครมากู้ร่วม ต่อไปคงทำได้ยาก และมีผลทำให้เรากู้ไม่ผ่านไปด้วย