ปลุกการอยู่อาศัยใน “ชุมชนน่าอยู่” ตามแบบฉบับของ LPP
สำหรับอาคารชุดพักอาศัย บ้านหลังใหญ่ที่รวมคนมากหน้าหลายตา มันคงเป็นเรื่องยากหากผู้พักอาศัยทุกคนในบ้านไม่มีสำนึกดีในการอยู่ร่วมกัน สำหรับคอนโดลุมพินี เราจึงจังอย่างมากในการบริหารจัดการการอยู่อาศัย เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยมีองค์ประกอบที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งมีจิตสำนึกของการมีส่วนร่วม ดูแลห่วงใย และแบ่งปันกัน
🔸 แรกพบ
เมื่อแรกเข้าอยู่อาศัย ความรู้สึกคงคล้ายกับเมื่อเราเปลี่ยนที่ศึกษา ที่ทำงาน ใหม่ๆคงมีอาการเขินๆ ไม่รู้จักใคร จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารจัดการที่จะต้องทำหน้าที่ Ice Breaking ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น Coffee Corner ฝ่ายบริหารจัดการพบเจ้าของร่วม เพื่อสอบถามความเป็นอยู่และขอรับคำแนะนำ นำมาซึ่งการปรับปรุง พัฒนา และสร้างโอกาสให้เจ้าของร่วมได้พบปะ พูดคุยกัน ถึงแม้ปัจจุบันจะมีสื่อออนไลน์เป็นตัวเชื่อมการติดต่อ แต่การได้พบกัน นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะต่อยอดความสัมพันธ์จากเพื่อนบ้าน เป็นเพื่อนสนิท และบางชุมชนก็กลายเป็นคู่ชีวิต ซึ่งกิจกรรมต่างๆ นอกจากการจัดตามวาระสำคัญ ก็ยังสร้างสรรค์ได้ตามไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยได้ด้วย
ดังเช่น กิจกรรม Family Day ที่เป็นกิจกรรมใหญ่รวมลูกบ้านทุกเพศวัยจากทุกโครงการมาพบปะ ร่วมกิจกรรมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปลูกฝังจิตสำนึกบางอย่างให้เกิดขึ้น เช่น การรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม การแบ่งปัน ช่วยสร้างสีสันในครอบครัวใหญ่แห่งนี้ ที่ทุกท่านล้วนเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน
🔸 จิตสำนึกร่วมนำมาซึ่งความสุขที่ยั่งยืน
การที่คนจำนวนมากจะอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างมีความสุข จำเป็นต้องมีกฎระเบียบมาเป็นแบบแผนปฏิบัติ ซึ่งทุกกฎได้ผ่านการคิดอย่างรอบคอบ โดยมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา ทั้งในส่วนของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ฝ่ายบริหารจัดการ และบางวาระเจ้าของร่วมก็สามารถนำเสนอผ่านการประชุมใหญ่สามัญประจำปีได้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่เจ้าของร่วมทุกท่านควรเข้าร่วมหรือส่งตัวแทนกรณีที่ติดภารกิจจริงๆ เพราะเป็นช่วงที่จะได้แสดงความเห็นและนำมาซึ่งข้อสรุปที่จะทำให้ชุมชนนั้นๆอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย และมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
🔸 คณะกรรมการนิติบุคคลฯ ผู้ที่สละตนทำงานเพื่อบ้าน “ของเรา”
เพราะแต่ละบ้านต้องมีผู้นำ เราจึงได้เห็นอาสาผู้กล้าที่พร้อมออกมารับผิดชอบทำหน้าที่แทนลูกบ้านทุกคน ซึ่งไม่เพียงแค่การทำตามหน้าที่ แต่ทุกท่านได้ร่วมกันนำความรู้ที่มี พร้อมความรักที่จะร่วมพัฒนาบ้านของทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อบอุ่น ปลอดภัยและน่าอยู่ โดยมีฝ่ายบริหารจัดการเป็นตัวเชื่อมและสร้างให้เกิดบรรยากาศเหล่านี้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ทั้งกิจกรรมตามที่ พรบ.อาคารชุดกำหนด หรือกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อื่นๆ
🔸 ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ
บางองค์กรอาจใช้วิธีการจากหนังสือ How to ที่ให้พนักงานถือหุ้นเพื่อการทำงานอย่างมุ่งมั่น
แต่การอยู่อาศัยร่วมกันในชุมชน ต้องการความเอื้ออาทร ห่วงใย ความรัก ความหวงแหน ต่างก็รู้ในหน้าที่ และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดย
1) เป็นฝ่ายจัดการที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน
2) เป็นเจ้าของร่วมที่ร่วมปฏิบัติตามกฎและรักในทุกพื้นที่ของชุมชนและผู้คน
3) เป็นกรรมการ ตัวแทนของเจ้าของร่วมทั้งหมด ที่คิดพิจารณาแทนความเห็นของคนส่วนใหญ่ได้
หากต่างฝ่ายต่างเป็นจิ๊กซอว์เกาะเกี่ยวให้กันและกัน ไม่ว่าผู้ประกอบการ ผู้พักอาศัย หรือฝ่ายบริหารจัดการ จะเป็นใครก็ตาม ชุมชนนั้นต่างก็อยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างมีความสุขที่ยั่งยืนค่ะ
จะเห็นได้จากตัวอย่างภายในชุมชนที่เราเข้าไปสำรวจโครงการที่เราดูแล เห็นการทำงานของ รปภ. คนหนึ่งตามปกติในทุกวันของการทำงาน เขาตั้งใจอย่างมากในการจัดระเบียบการจอดรถมอเตอร์ไซค์ โดยบางคันที่จอดในซองและออกไปแล้ว เขาก็จะนำคันที่อยู่นอกซองจัดระเบียบเข้าที่ วิธีการยก การขยับถือว่าให้ความสำคัญกับทรัพย์สินของเจ้าของร่วมเป็นอันมาก โดยเฉพาะจะเก็บขาเหยียบคนนั่งซ้อน (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เก็บ) ให้เข้าที่ เมื่อสอบถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น รปภ. ได้ให้คำตอบว่าเพื่อที่จะป้องกันการเกี่ยวกันแล้วล้มและป้องกันการครูดกับรถคันข้างๆ ซึ่งเขาจะทำเช่นนี้มาโดยตลอด และมีคำชมจากลูกบ้านมายังนิติฯ อยู่บ่อยครั้ง
หรืออีกหนึ่งเหตุการณ์คือ มีเจ้าของร่วมในคอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยาท่านหนึ่ง ที่มักจะออกมาเดินเล่นยามเช้าพร้อมกับเปิดสายยางรดน้ำต้นไม้อย่างทะนุถนอม ราวกับเป็นสวนของตัวเอง
สิ่งเหล่านี้ คือความสุข ความประทับใจเมื่อได้พบเห็น และโดยไม่รู้ตัว แต่ละท่านได้ช่วยเติมและขยายความรู้สึกในการเป็นเจ้าของนั้นให้กับคนอื่นๆ ในชุมชน แน่นอนว่าเราคงไม่กล้าเดินเหยียบไปบนพื้นหญ้าที่เพิ่งเห็นเพื่อนบ้านกำลังรดน้ำ ไม่กล้านำรองเท้าที่เปรอะเปื้อนเหยียบไปบนพื้นที่แม่บ้านกำลังขัดถูอย่างตั้งใจ เราคงรีบสลัดน้ำฝนในร่มก่อนเข้าไปในอาคาร อาการต่างๆเหล่านี้ อยากเรียกรวมว่า “อาการรักบ้าน” ที่ไม่ใช่รักและดูแลเพียงพื้นที่ในห้องชุด แต่ให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ ที่ทำหน้าที่สร้างความสุข ความอบอุ่น และปลอดภัย ให้แก่เจ้าของร่วมทุกคน เพราะแน่นอนว่า ในช่วงชีวิตเดียวของคนเรา เราคงไม่สามารถซื้อเพื่อเป็นเจ้าของ “บ้าน” ได้บ่อยครั้ง และทุกครั้งเราก็คิดทบทวนอย่างดีแล้วว่าจะเป็นที่ที่ให้ความสุขเมื่อเอนกายลงพักผ่อน หลังเหนื่อยล้าจากการงาน โดยมีมดงานในแต่ละหน้าที่ที่พร้อมรับผิดชอบและมีจิตสำนึกในงานอย่างดีที่สุด