9 คำถามน่ารู้ ก่อนบริจาคโลหิต
หลายคนที่กำลังจะเตรียมตัวบริจาคโลหิต กับโครงการ “ลุมพินี ร่วมใจบริจาคโลหิต” ก็คงจะวางแผนและตั้งเป้าหมายการบริจาคโลหิตสำหรับปีนี้ให้ตัวเองเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นการบริจาคโลหิต ก็อาจจะมีคำถามสงสัยอยู่บ้าง ว่าเป็นอย่างนั้นจะบริจาคโลหิตได้ไหม…อย่างนี้จะทำได้ไหม… แอดมินเลยรวบรวม 9 คำถามน่ารู้ มาฝากเพื่อนๆ ให้รู้กันก่อนบริจาคโลหิต จะได้เตรียมตัวกันให้พร้อม แล้วอย่าลืมเช็คสุขภาพของตัวเองกันให้ดีด้วยนะคะ
การบริจาคโลหิตทำให้อ้วนจริงหรอ?
การบริจาคโลหิตไม่ทำให้อ้วน สาเหตุที่ที่ทำให้อ้วน อาจเกิดได้จาก การรับประทานอาหารมากเกินไป ความบกพร่องของการเผาผลาญพลังงาน ฮอร์โมน พันธุกรรม ขาดการออกกำลังกาย และเมื่อมีอายุมากขึ้นมีโอกาสน้ำหนักเพิ่มได้ง่าย เนื่องจากมีอัตราการเผาผลาญน้อยลง
รักษาฟัน บริจาคโลหิตได้หรือไม่?
ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน ต้องเว้น 3 วัน เนื่องจากอาจมีภาวะติดเชื้อโรคในกระแสโลหิตชั่วคราวโดยไม่มีอาการ ซึ่งเชื้อโรคในกระแสโลหิต อาจติดต่อไปสู่ผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ถ้าหากผ่าฟันคุด เป็นการผ่าตัดเล็ก ต้องเว้นอย่างน้อย 7 วัน จนกว่าแผลหายสนิทไม่มีอาการอักเสบ
ระหว่างมีประจำเดือน บริจาคโลหิตหรือไม่?
สตรีที่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน หากมีสุขภาพแข็งแรง ประจำเดือนไม่มากกว่าปกติ ร่างกายทั่วไปสบายดี ไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ สามารถบริจาคโลหิตได้
เป็นไข้หวัด และมีอาการไอ เจ็บคอ บริจาคโลหิตได้หรือไม่?
กรณีเป็นไข้หวัดธรรมดา หลังจากหายดีแล้ว 7 วัน จึงสามารถบริจาคโลหิตได้ หากเป็นไข้หวัดใหญ่ หลังจากหายดีแล้ว 4 สัปดาห์ จึงสามารถบริจาคโลหิตได้ และถ้าหากมีอาการไอหรือเจ็บคอ หลังจากไม่มีอาการแล้ว 7 วัน จึงสามารถบริจาคโลหิตได้
เคยประสบอุบัติเหตุ บริจาคโลหิตได้หรือไม่?
กรณีมีอุบัติเหตุเล็กน้อย และแผลหายดีแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถบริจาคโลหิตได้ หากกรณีอุบัติเหตุที่มีการผ่าตัดใหญ่ ต้องรอให้แผลหายดีแล้ว 6 เดือน จึงสามารถบริจาคโลหิตได้ และในกรณีได้รับโลหิตหรือส่วนประกอบโลหิต ต้องงดเว้น 12 เดือน
อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ บริจาคโลหิตได้หรือไม่?
ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ เพราะโลหิตมีสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์
สัก ลบรอยสัก เจาะหูหรืออวัยวะอื่นๆ บริจาคโลหิตได้หรือไม่?
ต้องเว้นการบริจาคโลหิต 1 ปี เนื่องจากสถานที่ในการสัก เจาะหู หรืออวัยวะอื่นๆ อาจจะไม่สะอาด หรือมีการใช้เครื่องมือร่วมกัน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางกระแสโลหิต ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และเอชไอวี ซึ่งอาจส่งต่อไปให้ผู้ป่วยรับโลหิตได้ และยกเว้นหากได้ทำในโรงพยาบาล สามารถบริจาคโลหิตได้เมื่อแผลหายดีแล้ว
ฉีดโบท็อก ร้อยไหมละลาย บริจาคโลหิตได้หรือไม่?
หากฉีดโบท็อก สามารถบริจาคโลหิตได้ หากกระทำโดยแพทย์ (แพทยศาสตรบัณฑิต) โดยให้เว้น 24 ชั่วโมง ซึ่งในวันที่มาบริจาคจะต้องไม่มีอาการเขียวช้ำ หรืออักเสบ การร้อยไหมละลาย ก็สามารถบริจาคโลหิตได้ หากทำในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาให้ดำเนินการ ให้งดเว้น 7 วันและแผลหายดีแล้ว
รับประทานยาปลูกผม บริจาคโลหิตได้หรือไม่?
เนื่องจากยาปลูกผมมีหลายชนิด ควรงดบริจาคโลหิตชั่วคราว 1-6 เดือน แล้วแต่ชนิดของยา โดยให้นำชื่อยามาแจ้งให้แพทย์ผู้รับบริจาคโลหิตพิจารณา