11 เช็คลิสต์ค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อคอนโด
สำหรับผู้ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม และยังกำหนดงบประมาณนอกจากราคาคอนโดมิเนียมได้ไม่ชัดเจน วันนี้เราจะมาแนะนำว่า นอกจากราคาคอนโดแล้วค่าใช้จ่ายอื่นๆเมื่อต้องซื้อคอนโดมีอะไรกันบ้าง รู้ไว้ใช่ว่า คิดจะซื้อทั้งทีไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้เฉียบพลัน คิดกันวันสองวันก็ซื้อ ลองมาดูกันว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องหามาสำรองไว้กันนะคะ
- เงินจอง
เมื่อตัดสินใจเลือกคอนโดได้แล้ว “การจองห้อง” เป็นเงินก้อนแรกที่เราต้องจ่าย เพื่อเป็นการล็อกห้องที่ต้องการรอวันโอนกรรมสิทธิ์ โดยจำนวนเงินจองจะขึ้นอยู่กับราคาของคอนโดและเงื่อนไขที่โครงการกำหนด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5,000 – 60,000 บาท ซึ่งบางโครงการอาจจะมีโปรโมชั่นพิเศษออกมาเชิญชวนสำหรับใครที่จองพร้อมทำสัญญา
2. เงินทำสัญญา
หลังจากจ่ายเงินจอง 7-14 วัน ทางโครงการจะกำหนดวันทำ “สัญญาซื้อขาย” ซึ่งในส่วนนี้จะมีจำนวนเงินมากกว่าค่าจอง อย่างเช่น คอนโดราคา 2 ล้านบาท ค่าทำสัญญาอาจอยู่ที่ 30,000 – 50,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่โครงการนั้นๆ กำหนด เพราะบางที่อาจถึงหลักแสนก็มี
3. เงินดาวน์
ปัจจุบันเนื่องจากแบงก์ชาติกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโด ได้ในสัดส่วน LTV ไม่เกิน 90% ดังนั้น จึงต้องดาวน์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10%ของราคาซื้อขาย (รวมเงินจองและเงินทำสัญญา)ในกรณีที่โครงการยังสร้างไม่เสร็จ เราจะต้องทำการผ่อนดาวน์ไปจนกว่าคอนโดจะสร้างเสร็จเรียบร้อย เช่น ถ้าซื้อคอนโดห้องละ 5 ล้าน ค่าผ่อนดาวน์+ค่าจอง+ค่าทำสัญญา จะต้องไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
4. ค่าประเมินราคา
จ่ายในวันที่ไปทำเรื่องยื่นกู้ เฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ต่อการประเมินหนึ่งครั้ง ยิ่งยื่นกู้หลายธนาคารก็ต้องจ่ายมาก ค่าประเมินนี้จ่ายแล้วจ่ายเลยผ่านหรือไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ก็ไม่มีการคืนเงิน
5. ค่าจดจำนอง
จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ อัตราปกติคิด 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง เช่น เรากู้จากธนาคารมา 2 ล้านบาท คิดเป็น 1%x2 ล้าน = 20,000 บาท
6. ค่าธรรมเนียมการโอน
จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์เช่นกัน อัตราปกติคิด 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน เช่น ราคาเต็มคอนโดอยู่ที่ 2 ล้านบาท ก็ต้องจ่าย 40,000 บาท ซึ่งหากจ่ายคนละครึ่งกับโครงการ ก็จะเป็นเงิน 20,000 บาทที่ต้องเสียในส่วนนี้
7. เงินกองทุนส่วนกลาง
เป็นทุนสำรองในการบริหารจัดการคอนโด ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวโดยจะคิดตามขนาดห้องคูณค่าส่วนกลางต่อ ตร.ม. เช่น ถ้าห้องขนาด 40 ตร.ม. ค่ากองทุนอยู่ที่ 500 บาท/ตร.ม. เราก็จะต้องจ่ายเป็นเงิน 40 x 500 = 20,000 บาท นั่นเอง แต่ในอนาคตหากมีเหตุต้องนำเงินกองทุนมาใช้ ทางโครงการก็อาจมีการเรียกเก็บเพิ่ม
8. ค่าประกันอัคคีภัย
ถ้ากู้ธนาคารมาซื้อจะถูกกำหนดให้ต้องทำประกันอัคคีภัยห้องชุดด้วย ปกติมักจ่ายพร้อมกับเงินผ่อนชำระงวดแรก และส่วนใหญ่จะเรียกเก็บ 3 ปีครั้ง อัตราเบี้ยมาตรฐานกรมการประกันภัยกำหนดไว้ให้ แต่ธนาคารอาจมีส่วนลดให้ไม่เท่ากัน
9. ค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า
ส่วนนี้เราจะต้องจ่ายให้กับโครงการ แล้วโครงการจะเป็นผู้ไปจ่ายให้กับการไฟฟ้านครหลวงและการประปา เพื่อทำเรื่องเปลี่ยนเป็นชื่อเราภายหลัง โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2000 – 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์และเงื่อนไขของแต่ละโครงการ ปกติโครงการมักออกค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้าให้ก่อน แล้วเรียกเก็บทีหลังตามอัตราที่การประปา-การไฟฟ้ากำหนด
10. ค่าประกันภัยอาคาร
หากคอนโดฯ ที่นิติบุคคลทำประกันภัยอาคารไว้ เจ้าของห้องชุดก็ต้องร่วมจ่ายค่าประกันภัยนี้ด้วย ปกติคิดตามสัดส่วนพื้นที่ห้องชุด
11. และสุดท้ายค่าใช้จ่ายอื่นจะเป็นค่าตกแต่งคอนโด ทั้งราคาค่าตกแต่งขึ้นอยู่กับวัสดุและการออกแบบของเจ้าของห้องว่าจะตกแต่งห้องไปในทิศทางใด และควรตั้งงบประมาณไว้ให้พอดีกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่นอกเหนือจากราคาคอนโดอีกด้วย
อ้างอิง : https://www.home.co.th/hometips/topic-35669
https://www.estopolis.com/article/knowledge/guide-condo/รู้ไว้ใช่ว่า-คิดจะซื้อคอนโดทั้งทีต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง