ค่าส่วนกลาง
Inside Community,  Lumpini Tips

ทำไม! ต้องจ่ายค่าส่วนกลาง

ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม หรือหมู่บ้านจัดสรร  อาจจะเคยสงสัยว่า ทำไมถึงต้องจ่ายค่าส่วนกลางด้วย!  ค่าส่วนกลางที่เราจ่าย เค้าเอาไปทำอะไรกันนะ   เเล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการจ่ายค่าส่วนกลางนี้บ้าง ลองมาหาคำตอบกันค่ะ

ค่าส่วนกลาง

หนึ่งในเหตุผลที่หลายๆ คนเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากโครงการจัดสรร โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม นอกจากทำเลและราคาที่เหมาะสมแล้ว ก็ได้แก่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่แต่ละโครงการจัดไว้ให้ รวมทั้งทีมงานที่เข้ามาดูแลจัดการระบบต่างๆ ให้มีความพร้อมสำหรับการอยู่อาศัยในทุกๆ วัน  ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ก็มาจาก ค่าส่วนกลาง ที่เราต้องจ่ายไปนั่นเอง

ค่าส่วนกลาง คืออะไร

ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพื้นที่และทรัพย์สินส่วนกลางที่ทุกคนในชุมชนใช้ร่วมกัน มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ภายในอาคาร โดยชำระตามสิทธิการถือครองอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง

“ทรัพย์ส่วนกลาง หมายถึง ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้ หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม อาทิ ลานจอดรถ สระว่ายน้ำ สนามกีฬา สวนพักผ่อน เป็นต้น”

ค่าส่วนกลาง จ่ายแล้วไปไหน

เพื่อให้มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้น จึงขอแยกค่าใช้จ่ายที่เห็นได้ชัดเจน และจำเป็นสำหรับอาคารชุดเป็นข้อๆ ดังนี้

 

⛳ ใช้เป็นค่าอุปโภคบริโภคส่วนกลาง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเก็บขยะ ค่าประกันอัคคีภัย ค่าประกันมิเตอร์น้ำ  ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ไม่ว่าเราจะเลือกอยู่บ้าน หรือคอนโดมิเนียม ก็ล้วนเเล้วแต่เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น และเป็นผลประโยชน์กับตัวผู้อยู่อาศัยทั้งสิ้น

⛳ นำไปเป็นค่าจัดจ้างงานบริการต่างๆ เช่น งานรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้พักอาศัย งานรักษาความสะอาด รวมทั้งงานบริการกำจัดปลวก แมลง

⛳ ดูแลงานระบบต่างๆ ภายในอาคารชุด ไม่ว่าจะเป็น ระบบไฟฟ้าส่วนกลาง ลิฟต์ ประตูคีย์การ์ด ระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งระบบต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีการตรวจสอบ ดูแล และบำรุงรักษา อย่างเข้มงวด เพราะทุกอย่างล้วนมีผลกระทบต่อการอยู่อาศัยทั้งสิ้น

⛳ การจัดกิจกรรมประจำปีภายในอาคารชุด อาทิ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี, ซ้อมหนีไฟ ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายสำหรับทุกอาคารชุด รวมทั้งการจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อคนในชุมชน

 มีเกณฑ์ในการคิดค่าใช้จ่าย ค่าส่วนกลาง อย่างไร

ค่าส่วนกลาง

อัตราค่าส่วนกลางในแต่ละโครงการจะไม่เท่ากัน และบางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บสูงขึ้นได้ โดยนิติบุคคลฯ มีหน้าที่ต้องแจ้งล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดอาคาร, จำนวนผู้พักอาศัย, สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มี อาทิ ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ส่วนกลาง ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอัตราแปรผันกับค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา แต่ละโครงการจึงต้องพิจารณาอัตราการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางให้เหมาะสม

ซึ่งปกตินิติบุคคลฯ ก็จะใช้วิธีเรียกเก็บจากเจ้าของร่วมตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ที่ถือครอง โดยคำนวณตามขนาดของห้องชุดเป็นตารางเมตร  เช่น ห้องชุดขนาด 35.0 ตร.ม. และกำหนดอัตราค่าส่วนกลางที่ตารางเมตรละ 40 บาท ต่อตารางเมตร ต่อเดือน เจ้าของร่วมก็จะมีหน้าที่ต้องชำระค่าส่วนกลางในอัตรา 35.0 x 40 เท่ากับ 1,400 บาท ต่อเดือน โดยอาจกำหนดให้ชำระเป็นรายครึ่งปี หรือหลายปี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และตามมติจากกรรมการนิติบุคคลฯ ของแต่ละโครงการ

ค่าส่วนกลาง ไม่จ่ายได้มั้ย!

การชำระค่าส่วนกลางเป็นสิ่งสำคัญ  ในการดำเนินงานและบำรุงรักษาอาคารชุดให้มีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ดังนั้น หากมีเจ้าของร่วมที่เห็นแก่ตัว ไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการร่วมดูแลรักษาชุมชนของตนเอง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อส่วนรวมอื่นตามมาได้

ตามกฎหมายอาคารชุด จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมทุกคนที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการ ไม่ว่าจะซื้อไว้เพื่อลงทุน หรืออยู่เองก็ตาม ต้องชำระค่าส่วนกลางตามระยะเวลาที่อาคารชุดกำหนด มิเช่นนั้น นิติบุคคลฯ สามารถปรับเป็นเงินไม่เกิน 12%  ภายในระยะเวลา 6 เดือน และ 20% หากเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป รวมทั้งอาจให้งดใช้ทรัพย์ส่วนกลางในอาคารชุด เช่น ลานจอดรถ และสันทนาการต่างๆ และฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้

 ค่าส่วนกลาง

เพราะทุกคนล้วนเป็นสมาชิกคนสำคัญ ที่จะร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่  บทบาทหน้าที่ต่างๆ ที่ได้กำหนดขึ้นก็เพื่อให้เราทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่น ปลอดภัย ภายใต้สิ่งแวดล้อมและความรู้สึกที่ดีต่อกัน จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในชุมชนที่จะร่วมกันดูแล และปฏิบัติตามระเบียบของอาคารชุดด้วยความเข้าใจ

ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน
ที่ลุมพินี ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย

Facebook Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *