ฝนตกหนักแค่ไหน มั่นใจเลยว่า เอาอยู่!
เปรี้ยง!!! ได้ยินเสียงฟ้าผ่าทีไรเป็นต้องสะดุ้งตื่นทุกที ในช่วงฝนตกหนักๆ แบบนี้เพื่อนๆ สมาชิกครอบครัวลุมพินี อาจจะมีความกังวลใจว่าที่คอนโดของเราน้ำจะระบายทันไหม? น้ำจะท่วมไหม?? ไฟจะดับนานหรือเปล่า?? หรือฝ้าจะรั่วมาถึงห้องเราไหม??
เพื่อความอุ่นใจของทุกท่าน วันนี้แอดมินได้ขอนัดคิวสัมภาษณ์ คุณวัลลภ วงศ์เมืองแก่น ผู้จัดการแผนกซ่อมบำรุง คนเก่งของเรา เพื่อสอบถามเรื่องแผนการป้องกันน้ำท่วมอาคารชุด ที่คอนโดลุมพินีมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้สบายใจกันมากยิ่งขึ้นค่ะ
คุณวัลลภ วงศ์เมืองแก่น หรือ พี่ตู่ ที่เพื่อนๆ สมาชิกครอบครัวลุมพินีในโซน รัชโยธิน, สะพานควาย, พระราม 9, และดินแดง ก็คงจะคุ้นหน้าคุ้นตานายช่างท่านนี้เป็นพิเศษ ด้วยความใส่ใจ และความรวดเร็วในการให้บริการ พร้อมใบหน้าที่เจือรอยยิ้มได้ตลอดเวลา
“โดยปกติงานบำรุงรักษา หรืองานช่างจะมีแผนตรวจสอบเรื่องของระบบระบายน้ำหลักๆ อยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้าฝนเราจะเซ็ตระบบไว้ว่าประมาณเดือนมิถุนายน ทุกโครงการจะต้องทำแผนตรวจสอบการระบายน้ำรอบโครงการ บนดาดฟ้า และท่อระบายน้ำข้างล่าง เป็นประจำทุกปี” พี่ตู่บอกเล่าถึงการทำงานของทีมช่างชุมชน ในการดูแลอาคารชุดเพื่อเตรียมรับมือก่อนฤดูฝน
และสำหรับวิธีการตรวจของทางทีมช่างชุมชน จะเริ่มต้นจาก ตรวจตะกอนสะสมในลำราง (บ่อท่อระบายข้างๆ ตึก) โดยจะทำการเปิดดู และใช้ไม้วัดระดับตะกอนในบ่อว่าปริมาณสูงหรือไม่ ถ้าสูงจะรีบดำเนินการจัดจ้างเจ้าหน้าที่มาลอกท่อทันที การลอกท่อหรือเอาตะกอนออกจะทำให้ท่อสามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้น หากฝนตกหนักน้ำฝนก็จะไหลลงท่อ ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณรอบตัวอาคาร
นอกจากการลอกท่อแล้วก็จะทำการตรวจสอบการระบายน้ำของท่อลำเลียงน้ำฝนที่อยู่ในตึกทั้งหมด ซึ่งในแต่ละตึกก็จะมีอย่างน้อย 10-20 ท่อ ซึ่งท่อเหล่านี้จะรับน้ำจากชั้นดาดฟ้าและระเบียงห้องชุดของเจ้าของร่วมด้วย ทีมช่างจะตรวจโดยการฉีดน้ำจากดาดฟ้าโดยใช้สายยาง หรือสายดับเพลิงฉีดจากรูระบายน้ำบริเวณดาดฟ้า และมีผู้สังเกตการณ์อยู่ด้านล่างหนึ่งคนเพื่อดูการระบายของน้ำว่ามีการไหลเป็นอย่างไร ไหลไปยังท่อไหนบ้าง อัตราการไหลเป็นอย่างไร ถ้าฉีดน้ำแล้วไม่มีการไหลแสดงว่ามีการอุดตัน น้ำที่อุดตันเหล่านี้จะไปกระจุกตัวที่ระเบียงห้องพักของเจ้าของร่วมแล้วหากเป็นอย่างนั้นก็จะรีบดำเนินการแก้ไขทันที ซึ่งปกติแล้วจะไม่มีปัญหา
หลังจากตรวจสอบทั้งท่อระบายน้ำ และท่อลำเลียงน้ำฝนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือต้นไม้รอบๆ โครงการทางทีมช่างจะต้องตรวจสอบและดูแลเรื่องการค้ำยันต้นไม้เป็นพิเศษ ทั้งความคงทนแข็งแรงของต้นไม้ และอุปกรณ์ค้ำยัน เพื่อสร้างความมั่นใจหากเกิดเหตุพายุรุนแรง ต้นไม้จะไม่โค่น หรือป้องกันการเสียหายรุนแรง
สำหรับผู้พักอาศัยชั้นบนสุดก็ไม่ต้องกลัวการรั่วซึมนะครับ เพราะทางทีมช่างก็ได้ตรวจสอบการรั่วซึมเป็นประจำ การทำกันซึมบนอาคารมาตรฐานจะมีอายุใช้งานอยู่ที่ 5 ปี แต่ที่ LPN อย่างในกรุงเทพฯ จากการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ พบว่าจะมีอายุการใช้งาน ประมาณ 8-9 ปี ถึงจะมีอาการผุกร่อน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่นั้นๆ ซึ่งทางทีมก็จะมีแผนในการรื้อและเปลี่ยนกันซึมใหม่ โดยทาวัสดุทากันรั่วซึมใหม่เต็มพื้นที่
“สำหรับด้านการดูแลและบริหารจัดการอาคาร รวมทั้งพื้นที่ส่วนกลางและงานระบบต่างๆ ที่คอนโดลุมพินีของเราทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอาคารเก่าหรืออาคารใหม่ ทีมงานช่างชุมชน หรือแผนกซ่อมบำรุง จะมีมาตรฐานในการตรวจสอบเหมือนกันอย่างแน่นอน” พี่ตู่กล่าวย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้เราอีกครั้ง
เมื่อได้ฟังแบบนี้ ก็ขอให้เพื่อนๆ สบายใจกันได้เลยนะคะ เพราะที่ LPN เราไม่ได้ส่งมอบเพียงแค่ห้องชุดพักอาศัย แต่เรายังมุ่งมั่นส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้ทุกชุมชนลุมพินี เป็น “ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย” ได้อย่างยั่งยืนตลอดไปค่ะ
ขอขอบคุณ
Thanun Buranapong
2 Comments
Nujarin Banhansupavat
Thank you very much for your assistance to make us live comfortably. We will be your cooperation.
CondoLumpini
You’re welcome.We’re very pleased to give you the best service.